เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน จะไม่พูดถึง “ยาเสพติด” เลยคงจะไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ เป็นเครื่องบ่อนทำลายสังคม ที่ส่งผลเสียต่อทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ

แต่ท่ามกลางการสกัดกั้นจับกุมอย่างแข็งขันของหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนจะเป็นที่น่ากังวลมากขึ้น เพราะมีรายงานพบว่า “ราคายาเสพติดกำลังถูกลงเป็นประวัติการณ์”

ในขณะที่ในระดับประชาชนทั่วไปเอง ประโยคที่ว่า “ยาบ้าถูกกว่าข้าว” “ยาบ้าถูกกว่าบุหรี่” ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงกันหนาหูมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยรวมถึงเพื่อนบ้านของเรา กำลังเป็นที่น่ากังวลจริงหรือไม่

ข้อมูลในรายงานยาสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2023 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า “ราคาขายส่งและราคาขายตามท้องถนนของเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้าเม็ด) ทั่วทั้งภูมิภาค ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2022”

เมื่อลองดูภายในเอกสารรายงานดังกล่าว พบว่า สถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีการยึดยาเสพติดได้เพิ่มขึ้น โดย “ยาบ้าเม็ด” หรือเมทแอมเฟตามีน ยังคงเป็นยาเสพติดที่พบมากที่สุด

เปิดราคายาบ้าในแต่ละประเทศ

เมื่อยาบ้ายังคงเป็นยาเสพติดที่พบมากที่สุด นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงเลือกศึกษาแนวโน้มราคายาบ้า เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพิจารณาราคายาบ้าใน 4 ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตหรือเส้นทางขนส่งหลักในภูมิภาคนี้ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย

สำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แหล่งผลิตยาเสพติด แต่เป็นเส้นทางยอดนิยมในการขนส่งยาบ้านั้น ในปี 2022 ที่ผ่านมา สามารถยึดยาบ้าได้มากกว่า 541 ล้านเม็ด คิดเป็น 58% ของยาบ้าทั้งหมดที่ยึดได้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยราคายาบ้าที่ขายตามท้องตลาดเป็นเม็ด ๆ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากเดิมปี 2018 ตกเม็ดละ 100 บาท ในปี 2019 ก็ลดเหลือ 55 บาท ปี 2020 อยู่ที่ราว 57 บาท ส่วนในปี 2021 และ 2022 ลดลงมาเหลือ 50-51 บาท แต่บางพื้นที่ เช่น พื้นที่ใกล้ชายแดน อาจมีราคาเพียง 20-30 บาทต่อเม็ด

ส่วนราคาขายส่งแบบเป็นมัด ๆ ละ 2,000 เม็ดนั้น ในปี 2022 ค่าเฉลี่ยราคาขายส่งเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด (2,000 เม็ด) อยู่ที่ราว 12,000 บาท หรือ 1 ใน 3 ของราคาที่รายงานในปี 2020 (28,000-34,000 บาท) โดยเมื่อคำนวณออกมาแล้ว อยู่ที่เม็ดละ 6 บาทเท่านั้น

ข้อมูลนี้ของ UNODC สอดคล้องกับข้อมูลบันทึกการจับกุมของศูนย์ปฏิบัติการที่พบว่า ราคายาบ้าแบบขายปลีกเป็นเม็ด ๆ นั้นอยู่ที่ 30-50 บาทต่อเม็ด ส่วนราคาขายส่งเป็นมัดอยู่ที่ 16,000-27,000 บาท (8-13.5 บาทต่อเม็ด)

ถัดมาที่เพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการผลิตยาเสพติดของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะรัฐฉาน พบว่า ช่วงปี 2018-2019 ราคาอยู่ในช่วง 70-72 บาทต่อเม็ด ในปี 2020 ขึ้นมาเป็น 80 บาทต่อเม็ด แต่ในปี 2021 ลดลงมาเป็น 60 บาทต่อเม็ด และที่สุดในปี 2022 ก็ลดลงเหลือเพียง 35 บาทต่อเม็ด

ส่วนกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่หมายตาของแก๊งผลิตยาเสพติด โดยรายงานของ UNODC ยังระบุว่า ในขณะที่สามเหลี่ยมทองคำและรัฐฉานของเมียนมายังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยาเสพติด กลุ่มอาชญากรก็พยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการตั้งศูนย์การผลิตยาเสพติดแห่งใหม่ที่อื่นเพิ่ม เช่น กัมพูชา

ราคายาบ้าในกัมพูชานั้น ปี 2018 มีราคาสูง 140 บาทต่อเม็ด แต่มรปี 2019 ก็ถูกลง เหลือเพียงเม็ดละ 50-60 บาท กระทั่งปี 2020-2021 ลดลงไปต่ำถึง 35 บาท แต่ในปี 2022 ราคาปรับขึ้นมาเป็น 50-60 บาทอีกครั้ง

ขณะที่มาเลเซีย มีปริมาณยาบ้าที่ยึดได้เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าตลาดยาบ้าในประเทศมีแนวโน้มเติบโต ขณะที่จำนวนผู้ใช้ยาบ้าในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 61% จากปี 2021

อย่างไรก็ดี มาเลเซียเป็นตลาดผู้เสพมากกว่าตลาดการผลิต โดยจำนวนห้องปฏิบัติการที่ตรวจพบการผลิตยาบ้าในประเทศลดลงตั้งแต่ปี 2018 และตรวจพบห้องปฏิบัติการขนาดเล็กเพียง 2 แห่งเท่านั้นในปี 2022

ราคายาบ้าในมาเลเซียนั้น เมื่อปี 2018 อยู่ที่ 165 บาท ปี 2019 อยู่ที่ 80-125 บาท ปี 2020 ขึ้นมาเล็กน้อยที่ 128 บาท และในปี 2021-2022 ลดลงมาเหลือเพียง 82 บาทต่อเม็ด

ขบวนการขนยาอีสานอาละวาด จับยาบ้าล๊อตใหญ่ กว่า 15 ล้านเม็ด

“อุตสาหกรรมยาเสพติด” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัว ราคาถูกเป็นประวัติการณ์

รวบหนุ่มค้ายาบ้า จัดโปร ลด แลก แจก แถม คนรู้จักให้ฟรีเอาไปทดลองเสพ

จากข้อมูลราคายาบ้าใน 4 ประเทศเอเชียที่ถูกลง นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้สอบถามไปยัง นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น

นายวิชัยบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคายาเสพติดถูกลง มีอยู่ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สารตั้งต้นถูกลง ค่าขนส่งถูกลง เทคโนโลยีดีขึ้น และกลไกตลาด

สารตั้งต้นราคาถูก หาได้ง่ายตามแพลตฟอร์มออนไลน์

เรื่องของราคาสารตั้งต้นที่ถูกลงนั้น นายวิชัยบอกว่า “ปัจจุบัน เคมีภัณฑ์ซึ่งใช้ราคาต้นทุนต่ำมีขายมากขึ้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ บางแพลตฟอร์มขายกิโลกรัมหนึ่งไม่ถึง 100 บาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตยาเสพติดถูกลงมาก”

เลขาฑิการ ป.ป.ส. เสริมว่า “วัตถุดิบในเรื่องเคมีภัณฑ์มันหาทดแทนได้หลายอย่าง สารเคมีสามารถที่จะไปแยกส่วนไปทำได้ง่ายขึ้น สารเคมีก็ราคาถูก”

ต้นทุนค่าขนส่งถูกลง ผู้ค้าเปลี่ยนวิธีขนส่ง

ขณะที่ในเรื่องของค่าขนส่งนั้น นายวิชัยบอกว่าต้นทุนในส่วนนี้ถูกลง จากในอดีตที่คิดราคาค่าส่งเป็นเม็ด ปัจจุบันคิดตามน้ำหนัก

“เมื่อก่อนยาเพสติดแพงมาก เพราะว่าปัญหาค่าใช้จ่ายในการลักลอบขนส่งสูง อัวอย่างเช่น ยาบ้า เมื่อก่อนเวลาจะส่งจากเชียงราย แม่สายมากรุงเทพ คิดเม็ดละ 2-3 บาท แปลว่า ยาบ้า 1 กิโลกรัม หรือราว 10,000 เม็ด เมื่อก่อนมีค่าขนส่ง 20,000-30,000 บาท แต่ปัจจุบัน ยาเสพติดส่วนหนึ่งถูกจัดส่งทางพัสดุภัณฑ์ ดังนั้น ถ้าขนส่งยาบ้าประมาณ 1 กิโลกรัม ก็ไม่เกิน 90 บาท” นายวิชัยกล่าว

เขาบอกว่า ในส่วนของค่าจ้างคนส่งพัสดุมันก็คิดราคาตามกล่อง กล่องหนึ่ง 5-10 กิโลกรัม รวม ๆ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 บาท ดังนั้นค่าขนส่งโดยรวมถึงมีราคาถูกลงมาก

เลขาธิการ ป.ป.ส. บอกว่า ปัจจุบันผู้ค้านิยมจัดส่งยาเสพติดผ่านพัสดุภัณฑ์มากขึ้น “ในการส่งผ่านทางพัสดุภัณฑ์มันปลอดภัย ถ้ามันส่งมาทางรถขน จะเจอด่านตรวจตลอด แต่ถ้าทางพัสดุภัณฑ์ ถ้าส่งผ่านปุ๊บมันเหมือนส่งจดหมายส่งพัสดุเลย ไปถึงปลายทางเลย”

เมื่อถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่หรือตำรวจไม่สามารถค้นหรือดักการขนส่งเหล่านี้ได้หรือ นายวิชัยบอกว่า ในความเป็นจริง รถที่ขนพัสดุภัณฑ์มีของเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่มีการข่าวที่ดี เจ้าหน้าที่ก็เสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนจากบริษัท เพราะเขาก็อาจจะถูกลูกค้าฟ้องมาอีกทีว่าส่งของช้า เพราะฉะนั้นการตรวจค้นถ้าไม่มีการข่าวก็จะไม่ค้น มันก็จะวิ่งปรู๊ดเลย วันเดียวก็ถึงแล้ว อันนี้คือในเรื่องของการขนส่งมันถูกลง”

กำลังการผลิตเพิ่มจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น

ด้านปัจจัยในเชิงเทคโนโลยี เลขาธิการ ป.ป.ส. บอกว่า เมื่อโลกก้าวหน้า เทคโนโลยีดีขึ้น ทำให้อัตราการผลิตยาเสพติดเร็วขึ้นกว่า 100 เท่า

“เมื่อก่อนแก๊งผลิตยาเสพติดจะใช้ระบบหัวตอกเดียว (Single Punch) ได้ยาทีละประมาณ 2700 เม็ด/ชั่วโมง เดี๋ยวนี้เครื่องหนึ่งผลิตได้ 288,000 เม็ด/ชั่วโมง อัตราการผลิตเร็วขึ้นเป็น 100 เท่าเทียบกับเมื่อก่อน” นายวิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ยาเสพติดบางชนิดที่เมื่อก่อนผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำไม่ได้ ปัจจุบันสามารถผลิตได้ เช่น เมื่อก่อนผลิตได้แค่ยาบ้า ส่วนยาไอซ์และยาอีผลิตเองไม่ได้ ต้องสั่งจากยุโรป หรือเคตามีนเมื่อก่อนจากอินเดียเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสามเหลี่ยมทองคำสามารถผลิตยาไอซ์ ยาอี เคตามีน ได้หมดแล้ว

“เมื่อก่อนไอซ์จากยุโรปกิโลละเป็นล้าน ตอนนี้มีไอซ์สามเหลี่ยมทองคำ ราคาเหลือกิโลกรัมละ 2 แสนบาท เข้ามาทีละหลายร้อยกิโลกรัมเลยที่เคยที่จับได้” นายวิชัยกล่าว

ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

อีกเรื่องที่ทำให้ยาเสพติดมีราคาถูกลง เป็นเรื่องของกลไกตลาด ตามหลักการพื้นที่ฐานที่ว่า “เมื่ออุปทานมาก อุปสงค์น้อย ราคาสินค้าจะลดลง”

นายวิชัยบอกว่า “ตอนนี้ซัพพลาย (อุปทาน) มันสูง แต่ดีมานด์ (อุปสงค์) มันไม่ได้สูงตาม ดูจากสถิติการจับกุมปี 2562 จำนวนคดีกับผู้ต้องหาลดลงประมาณ 1 ใน 4 แต่ปริมาณของกลางกลับเพิ่มมากขึ้น”

เขาเสริมว่า “เหตุที่ถูกลง เพราะซัพพลายเยอะ ดีมานด์น้อย ก็ต้องลดราคา อีกอย่าง เมื่อก่อนคนค้ายาต้องเป็นพวกขาใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในชุมชน ถึงจะขายได้ แต่ปัจจุบันขายทางโซเชียลมีเดีย เด็กก็ขายได้ กลายเป็นว่า จากสินค้าผูกขาด มันกลายเป็นไม่ผูกขาด”

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้จากเมื่อก่อนที่ผู้ค้าตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ ทุกคนต้องมาซื้อที่นี่ที่เดียว เม็ดละ 100-200 บาทแล้วก็ต้องจ่ายสด ซุกไว้ตามที่นั่นที่นี่มานัดรับกัน กระถางบ้าง เสาไฟฟ้าบ้าง แต่ปัจจุบันสามารถโอนเข้าบัญชีได้ มีนอมินีรับจ้างเปิดบัญชี ยิ่งมีพัสดุภัณฑ์ก็ไม่ต้องมารับเอง แค่มีโทรศัพท์ เข้าเฟซบุ๊ก-ไลน์เฉพาะกลุ่ม

“นั่นทำให้ทุกวันนี้มีผู้ขายหลายคน ขณะที่ลูกค้ามีเท่าเดิม มันก็ต้องลดราคาแข่งกันแย่งลูกค้า จะต่ำเท่าไหร่ก็ยังได้กำไร เพียงแต่กำไรน้อยลง จาก 200-300 บาท เหลือ 20-50 บาท” นายวิชัยกล่าว

เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ได้หย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ส. ยืนยันว่า ไม่ได้หย่อนลยาน เจ้าหน้าที่ยิ่งทำงานยิ่งหนัก ทำงานเต็มที่ทุกปี แต่ละคดีจำนวนผู้ต้องหาลดลง การกระทำผิดคนเข้าไปเกี่ยวข้องลดลง แต่ปริมาณยามันกลับสูงขึ้น

ป.ป.ส. ยืนยัน ยาบ้าถูกลงแต่ไม่ได้หาง่าย

อย่างไรก็ตาม แม้ยาบ้าและยาเสพติดจะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ แต่เลขาธิการ ป.ป.ส. เน้นย้ำว่า การที่ราคายาเสพติดถูกลงไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การเข้าถึงยาเสพติดเป็นไปได้ง่ายขึ้น

“ถามว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้การเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้นมั้ย? ไม่ง่ายนะ เหมือนเดิม เพราะในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะเข้าไปได้ มันเป็นเฉพาะกลุ่ม มันต้องมีรหัส หรือการใช้โค้ดที่เราเข้าไม่ถึง เช่น หาไก่ให้ 2 ตัว ไข่แพ็กหนึ่ง ถ้าเราไม่รู้โค้ด เราก็ไม่รู้” นายวิชัยกล่าว

เขาเสริมว่า “ราคาจากแหล่งผลิตมันถูก และอยู่ใกล้ประเทศเรา ทำให้ UNODC วิเคราะห์ว่ามันถูกลง เป็นเพราะเหตุนี้ … กระแสการออกข่าวมันเยอะ บางทีเคสเดียวออกซ้ำหลายครั้ง แต่ถูกมั้ย ก็ถูกจริง ถูกลงมาก”

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตยาเสพติด เคยมีคนลองผลิตที่จับได้ แต่คุณภาพไม่ได้ ประเทศไทยทั้งหมดยังไม่พอจะผลิตเฮโรอีนได้ 1 กิโลกรัมด้วยซ้ำ ยาบ้าเองก็ไม่มี แต่มีการนำเข้า

“ไทยเป็นเส้นทางหนึ่งที่คนนิยมใช้ แต่บางทีเมื่อส่งจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วออกทะเลเลยก็มี มันไม่ได้มาจากประเทศเราอย่างเดียว เราเป็นแค่ทางหนึ่ง แต่เราไม่ทราบข่าวที่ต่างประเทศว่ามีเยอะเหมือนกัน” นายวิชัยบอก

ประเทศไทยในปัจจุบันมีหน่วยสกัดกั้นทางอากาศ สกัดกั้นทางเรือ รวมถึงความร่วมกันระหว่าง ป.ป.ส., กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.), ศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือกรมศุลกากร “ไม่ว่าจะสกัดไม่ให้เข้า หรือสกัดไม่ให้ออก แต่บางทีของน้อยเราก็ไม่ได้แถลงข่าว หรือกำลังอยู่ระหว่างการขยายผลก็ให้เป็นข่าวไม่ได้”

จากราคายาบ้าที่ระบุไว้ข้างต้น เมื่อนำมาเทียบกับราคาอาหารในแต่ละมื้อของคนไทย ซึ่งปัจจุบันคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 40-60 บาทต่อมื้อ ก็พอจะพูดได้ว่า ราคายาบ้าทุกวันนี้ถูกกว่าข้าว 1 มื้อจริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามเลขาฑิการ ป.ป.ส. ว่า คำพูดที่เราคุยกันในสังคมว่า “ยาบ้าถูกกว่าข้าว” เป็นเรื่องจริงหรือไม่? นายวิชัยบอกว่า “ยาบ้าถูกกว่าข้าว? แต่ถ้าซื้อข้าวมันง่ายกว่ามั้ย เดินไปก็เจอร้านขายข้าว แต่ยาบ้าไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น มันหายาก”คำพูดจาก สล็อตเว็บตรง

นายวิชัยเน้นย้ำว่า “เรื่องหาง่ายหายากอย่าไปใช้ความรู้สึก ว่าพอมันเยอะมันน่าจะหาง่าย เราต้องใช้ข้อเท็จจริงว่า ถ้าเราจะไปหาซื้อ จะไปซื้อที่ไหน อย่าใช้ความรู้สึกว่ามันราคาถูก จับได้เยอะ น่าจะหาง่าย จริง ๆมันไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น”

ภาพจาก AFP

 “ยาบ้าถูกกว่าข้าว” จริงหรือ- ชำแหละปัจจัย “ราคายาเสพติด” ถูกลงเรื่อย ๆ

By admin