สื่อนอกวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ประเทศจีนจะกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านฟุตบอล แบบเดียวกับที่เป็นมหาอำนาจในด้านอื่น ๆ

ในปี 2011 หรือประมาณ 1 ปีก่อนที่จะขึ้นเป็นผู้นำประเทศ สี จิ้นผิง เคยตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเปลี่ยนจีนให้เป็น “มหาอำนาจฟุตบอล” เขาตั้งเป้าไปที่รางวัลสูงสุด และกำหนดแผน 3 ขั้นตอนสำหรับทีมชาติชาย เข้ารอบฟุตบอลโลกอีกครั้ง, เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

สำหรับประเทศที่ในเวลานั้นอยู่ในอันดับไม่ถึง Top 70 ของโลก และผ่านเข้ารอบในการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดเพียงครั้งเดียวนับตั้งแต่มีความพยายามครั้งแรกในปี 1957 ภารกิจนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก

แต่จะว่าไปแล้ว เมื่อพูดถึงศักยภาพด้านกีฬา เรามักมีภาพจำว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักกีฬาโดดเด่นในหลายประเภทกีฬา แทบจะครอบคลุมทุกชนิด นั่นจึงทำให้เมื่อมองดูแล้ว มันอาจจะไม่ยากนักหากราชามังกรจะต้องการเป็นราชาลูกหนังกับเขาบ้าง

อย่างไรก็ดี ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา พูดกันตามตรง จีนไม่เป็นที่จดจำเท่าไรนักสำหรับแฟนบอลทั่วโลก สื่อต่างประเทศได้ลองพยายามไขคำตอบว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ในช่วงแรกที่จีนตั้งมั่นว่าจะเป็นมหาอำนาจฟุตบอล สี จิ้นผิง ได้รับการตอบรับและแรงสนับสนุนอย่างดีมาก มีการลงทุนและการใช้จ่ายที่ทำให้ผู้เล่นและแฟนบอลทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่จีน กลุ่มและบริษัทในเครือของรัฐและนักพัฒนาต่างหลั่งไหลเข้ามายังจีนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอสังหาริมทรัพย์

ไชนีส ซูเปอร์ลีก (CSL) กลายเป็นแหล่งรวมของซูเปอร์สตาร์ต่างชาติที่แสวงหาผลตอบแทนที่คุ้มค่า การเซ็นสัญญาของบิ๊กเนมทุกรายล้วนดึงดูดสายตาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซ์ เตเซรา นักเตะชาวบราซิลที่เซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลเจียงซูซูหนิง (Jiangsu Suning) ด้วยค่าตัว 54 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1.84 พันล้านบาท) ยังมีฮัลค์ (จีวานิลดู วีเยย์รา เด โซซา) ที่ไปเซี่ยงไฮ้พอร์ต (SIPG) ในราคา 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2 พันล้านบาท) รวมถึงออสการ์ (ออสการ์ โดส ซานโตส) ไปเซี่ยงไฮ้ด้วย 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.2 พันล้านบาท)

ในไม่ช้า CSL ก็แข่งขันกับลีกที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปได้ แต่เป็นในแง่ของเงินที่ใช้จ่ายไป โดยในปี 2015-2016 ที่ฟุตบอลจีนเฟื่องฟู มีการใช้จ่ายในการซื้อขายนักเตะถึง 451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 หมื่นล้านบาท) จนกลายเป็น Top 5 ลีกที่มีการใช้จ่ายเงินมากที่สุดของโลก

แต่กว่าทศวรรษนับจากที่ สี จิ้นผิง กล่าวถึงความฝัน ความเป็นใหญ่ในวงการฟุตบอลของจีนก็ลดลงอย่างรวดเร็วพอ ๆ กับที่เคยรุ่งโรจน์ การตัดสินใจทางการเงินที่ไม่ดีและการคอร์รัปชัน ประกอบกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฟุตบอลจีนเรียกได้ว่าอยู่ในสภาพเละไม่มีชิ้นดี

เมื่อโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงัก เงินทุนจากบริษัทในเครือของรัฐและนักพัฒนาก็เหือดแห้งไป กฎควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดทำให้แฟน ๆ ที่มาดูเกมสดที่สนามน้อยลง สปอนเซอร์ก็น้อยลงตามไปด้วย สโมสรมีปัญหาในการจ่ายค่าจ้าง นักเตะและโค้ชต่างชาติหลายคนตัดสินใจเลิกเล่นในจีน หลายคนให้เหตุผลว่า มาตรการของจีนทำให้การพบปะครอบครัวของพวกเขาเป็นไปได้ยาก

เป็นไปได้หรือไม่- ที่ “จีน” จะกลายเป็นมหาอำนาจด้านฟุตบอล

ในขณะที่ข้อจำกัดของโควิดทำให้ชีวิตของผู้เล่นหลายคนเป็นทุกข์ แต่การแพร่ระบาดได้สร้างความหายนะให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของหรือสปอนเซอร์ให้กับสโมสรต่าง ๆ ด้วย

เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป (Evergrande Group) ซึ่งล่มสลายในปี 2021 จุดประกายวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศจีน ทำให้ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ทีมฟุตบอลชายในเครือไม่สามารถจ่ายค่าแรงผู้เล่นได้เต็มจำนวน

จีนคาดหวังว่า การนำนักเตะจากต่างประเทศมาสู่ CSL จะเป็นการยกระดับของผู้เล่นฟุตบอลในจีน ด้วยความหวังที่จะต่อยอดไปสู่ทีมชาติ แต่จากการจัดอันดับของทีมชาติแสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งหัวหน้าโค้ชคนใหม่เป็นเซอร์เบีย อเล็กซานดาร์ ยานโควิช เพื่อพยายามพลิกสถานการณ์แล้วก็ตาม โดย ณ เดือนเมษายน อันดับโลกของจีนอยู่ที่อันดับ 81 ของโลก

ในทำนองเดียวกัน โอกาสของจีนในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกก็ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวในช่วงเวลานี้ จากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอรัปชันที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลของจีน

หน่วยงานต่อต้านการฉ้อฉลของพรรคคอมมิวนิสต์กำลังตรวจสอบบุคคลในสมาคมฟุตบอลจีน (CFA) รวมถึงอดีตประธานสมาคม เฉิน ซูหยวน, อดีตรองประธานสมาคม หยู หงเฉิน, อดีตหัวหน้าโค้ช หลี่ เถี่ย, อดีตเลขาธิการสมาคม หลิว อี้, อดีตผู้จัดการไชนีส ซูเปอร์ลีก ตง เจิง อดีตหัวหน้าคณะกรรมการวินัยของ CFA หวัง เสี่ยวผิง และคนอื่น ๆ

ไม่เพียงแค่เรื่องคอร์รัปชันที่ทำให้ FIFA อาจต้องลังเลใจหากคิดจะเลือกจีนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพราะ ตู้ จ้าวไฉ ตัวแทน FIFA เพียงคนเดียวของประเทศจีนเพิ่งสูญเสียที่นั่งไป จากการถูกสอบสวนในข้อหา “ต้องสงสัยว่าละเมิดวินัยและกฎหมาย”

ความพ่ายแพ้ต่อเวียดนาม 3-1 ซึ่งทำให้ความหวังของจีนในการผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกปี 2022 สิ้นสุดลง ทำให้ ก่ง ฮั่นหลิน นักแสดงชื่อดังของจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด

“ทีมฟุตบอลที่มีรายได้ปีละ 3 ล้าน 5 ล้านหรือหลายหมื่นล้าน และพวกเขาแทบไม่เห็นเป้าหมายในสนามเลย … นี่เป็นความอับอายโดยแท้จริงสำหรับชาวจีน” ก่อง ฮั่นหลิน กล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ความฝันของ สี จิ้นผิง ที่ต้องการให้จีนเป็นมหาอำนาจด้านฟุตบอลกำลังถูกตั้งคำถาม ว่าท้ายที่สุดแล้ว ความฝันที่ดูห่างไกลนี้จะเป็นได้จริงหรือ?

เรียบเรียงจาก

ภาพจาก AFP

By admin